รายการสเปเซียลทอล์ค ตอนที่ 1 รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ นโยบายและการบริหารงาน มทร.ธัญบุรี

สัมภาษณ์อธิการบดี รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ มทร.ธัญบุรี

ในหัวข้อเรื่องนโยบายและการบริหารงาน ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และอวยพรปีใหม่ 2557

สัมภาษณ์โดย ดร.กุลกนิษฐ์ ทองเงา

ข่าวที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร

”รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คนใหม่ซึ่งเมื่อฉบับที่แล้วท่านได้พูดถึงแผนเบื้องต้นหลังจากมารับไม้ต่อจากอธิการบดีคนเก่าโดยจะสานต่อนโยบายเดิม ในเรื่องของการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติในสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงบัณฑิตที่จบออกไปต้องทำงานได้นอกจากนี้ ยังจะพัฒนาสาขาวิชาที่เปิดการเรียนการสอนให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและตลาดอาเซียน

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนจะเริ่มจากพัฒนาอาจารย์ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้วยการส่งไปทำงานกับภาคอุตสาหกรรมและทำงานวิจัยด้วยการหยิบยกปัญหาในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงจะปรับเปลี่ยนระเบียบการจ้างให้ผู้ที่มีความรู้ประสบการณ์จากภาคอุตสาหกรรมมาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแล้ว นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยฯ มีแผนจะปลูกฝังให้นักศึกษามีความรับผิดชอบ เป็นคนตรงต่อเวลา เป็นคนสู้งาน มีความคิด เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อบุคคลรอบข้างและสังคมด้วยการจัดทำสมุดบันทึกความดีไว้ให้ลงระหว่างเรียนที่มหาวิทยาลัย และจะเน้นสอนหรือให้นักศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียนมากยิ่งขึ้น

“รศ.ดร.ประเสริฐ” กล่าวต่อไปว่า”ขบวนการสื่อของมหาวิทยาลัยต่อจากนี้ไปจะเป็นสื่อออนไลน์ที่จะให้นักศึกษาได้สืบค้นหาข้อมูลได้ ซึ่งนอกจากห้องสมุดแล้วยังมีเนื้อหาออนไลน์ที่มหาวิทยาลัยจัดซื้อหรืออาจารย์ที่ทำขึ้น

ซึ่งให้เด็กสามารถเรียนรู้เพื่อนำมาพัฒนาในการเรียนให้มากยิ่งขึ้นและต่อจากนี้จะให้อาจารย์ทุกคนทำงานวิจัยทุกปีปีละ 1 เรื่อง และ

อาจารย์ทุกคนต้องมีตำราที่เขียนด้วยตัวเองอย่างน้อย 1 เล่ม เพื่อที่จะพัฒนาอาจารย์ให้มีความสามารถในทางวิชาการ ผนวกกับเอื้อต่อการให้เด็กได้ศึกษาเรียนรู้”

“มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีช่วง 8 ปีแรก เป็นช่วงที่อาจารย์

ของเราหาองค์ความรู้และช่วงที่รับนักวิชาการจากภายนอกเข้ามาสู่มหาวิทยาลัย แต่หลังจากนี้ไป 8 ปีน่าจะเป็นช่วงที่เรายกระดับงานวิจัยที่เป็นเฉพาะทางเฉพาะด้านหรืองานวิจัยที่จะเป็นเชิงพาณิชย์ และสิ่งหนึ่งที่เห็นคืออาจารย์จะเป็นผู้เริ่มประยุกต์เอาความรู้

ต่างๆ ไปเจาะลึกในเนื้อหาที่ทำวิจัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยของเรามีงานวิจัยมากขึ้น”

“หลังจากที่เราได้พัฒนาอาจารย์และนักศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้วเราจะพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุข กล่าวคือเด็กจะต้องมีความสุขกับการที่อยู่ในมหาวิทยาลัยพร้อมกับใช้เวลาอยู่ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น นอกห้องเรียนจะมีห้องไว้ให้เด็กได้มาประชุมหรืออภิปรายในงานวิชาการกัน โดยทุกคณะจะต้องมีห้อง Discuss Room รวมถึงภายในห้องสมุดจะเพิ่มจำนวนห้อง Discuss Room ด้วย”

“รศ.ดร.ประเสริฐ”กล่าวถึงอาจารย์ที่ปรึกษาว่า”ตอนนี้มหาวิทยาลัยได้มีการฝึกอบรมอาจารย์ที่ปรึกษาใหม่ให้มีความรู้เชิงจิตวิทยา โดยเราจะใช้กลไกของอาจารย์ที่ปรึกษาในการที่จะช่วยเหลือเด็กนอกจากจะเรื่องเรียนหรือความรู้ทางวิชาการแล้วยัง

จะคอยเป็นที่ปรึกษาในช่วงที่มีปัญหาต่างๆเช่น ปัญหาการเรียน ปัญหาครอบครัวเป็นต้น ซึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาจะคอยให้คำปรึกษาเพื่อจะลดจำนวนเด็กที่ต้องลาออกหรือถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยให้น้อยลง โดยอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คนต่อนักศึกษา 30 คนในทุกสาขาทุกคณะ”

“เราจะให้ความสำคัญกับฝ่ายสนับสนุน หรือพนักงานมหาวิทยาลัยที่เป็นฝ่ายสนับสนุนด้วย ซึ่งเราจะเข้มงวดกับการพัฒนาบุคลากรฝ่ายนี้เพื่อให้มีความเจริญเติบโตในสายสนับสนุนและมีความมั่นคง รวมถึงถ้าโอกาสในอนาคตพนักงานต้องเรียนจบปริญญาโทหรือปริญญาเอก เพื่อเวลาที่ฝ่ายสนับสนุนต้องการจะเปลี่ยนสายมาเป็นอาจารย์ได้

กล่าวโดยสรุป เราจะพัฒนาบุคลากรรอบด้าน ทั้งผู้สอน ฝ่ายสนับสนุน และนักศึกษา”

“รศ.ดร.ประเสริฐ” กล่าวว่า “เราจะมุ่งเน้นการบริหารการจัดการที่เป็นธรรมาธิบาล โดยการบริหารของกลุ่มอธิการบดี หรือรองอธิการ จะต้องจับมือกับสภามหาวิทยาลัยเพื่อที่จะขับเคลื่อนนโยบายที่อธิการบดีคนใหม่ได้เสนอวิสัยทัศน์ไปกับสภามหาวิทยาลัยประชาคมอาจารย์และนักศึกษาในการขับเคลื่อนนโยบายใหม่ ซึ่งเราจะนำนโยบายลงสู่ระดับล่างโดยผู้บริหารตั้งแต่อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี จะเป็นกลไกต่อการทำงานร่วมกับอาจารย์ทุกคณะ กล่าวคือ ผู้บริหารจะไม่ได้มอบนโยบายเพียงอย่างเดียวแต่จะลงไปปฏิบัติกับคณะและฝ่ายสนับสนุนด้วยเพื่อจะผลักดันงานให้เกิดขึ้น”

น่าเสียดาย กำลังเข้มข้นอยู่พอดี แต่พื้นที่มีจำกัดเลยต้องจบการสนทนาไว้เท่านี้ก่อน อย่างไรก็ตาม คอยติดตามการสนทนาของ “รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ” ได้ในฉบับหน้ารับรองว่าเนื้อหายังคงเข้มข้นและน่าสนใจเหมือนเช่นเคยแน่นอน แล้วพบกัน…